ประวัติร่มอารามธรรมสถาน


เมื่อหลวงพ่อชาญชัย อธิปญฺโญ มีกิจกรรมเกี่ยวกับงานเผยแผ่ธรรมมากขึ้นตามลำดับ เป็นเหตุให้ต้องเดินทางจากวัดตาดน้ำพุ ต.คำด้วง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นวัดที่จำพรรษาอยู่ มีระยะทางห่างจากตัวเมืองอุดรธานีประมาณ ๑๐๐ กม. ต้องใช้เวลาเดินทางราว ๑.๓๐ ชั่วโมง และจากจังหวัดอุดรธานี ไปยังถิ่นทีได้รับนิมนต์ ยังต้องใช้เวลาเดินทางอีกหลายชั่วโมง ประกอบกับวัยของหลวงพ่อชาญชัย อธิปญฺโญ เข้าสู่อายุ ๖๔ ปี (พ.ศ.๒๕๐๐) ซึ่งนับวันจะชราลงเป็นลำดับ ไม่เหมาะแก่การเดินทางที่ตรากตรำบ่อยๆ เมื่อเป็นเช่นนี้หลวงพ่อจึงดำริที่จะหาสถานที่สร้างที่พำนักใหม่ โดยมีเป้าหมายที่จะอยู่ในหรือรอบปริมณฑลกรุงเทพมหานคร เพื่อสะดวกในการเดินทางไปยังภูมิภาคต่างๆ

ความดำริดังกล่าวทราบถึง ผศ.ปาหนัน บุญ-หลง ผู้ใฝ่ในธรรมและมีปณิธานที่จะบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ท่านมีที่ดินอยู่ ๔ ไร่ ๒ งาน ตั้งอยู่ที่ หมู่ ๓ ต.บึงบา (ข้าง อบต.บึงบา) อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี ที่ดินดังกล่าว พ.ท. ศุลี บุญ-หลง สามีผู้ล่วงลับไปแล้ว มอบให้เป็นมรดกแก่ภรรยาและบุตร-ธิดาทั้งสอง คือคุณจักร บุญ-หลง และคุณจันทนา (บุญ-หลง) มัณฑะจิตร ครอบครัวของ ผศ.ปาหนัน บุญหลง ได้ยินยอมพร้อมใจกันที่จะถวายที่ดินผืนนี้ ให้เป็นที่ปฏิบัติธรรม เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๕๐ เพื่อประโยชน์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาสืบไป

หลวงพ่อชาญชัย อธิปญฺโญ ได้เข้าไปดำเนินการพัฒนาที่ดินและสร้างเสนาสนะ พร้อมกับจัดหาที่ดินเพิ่มขึ้น ๑ ไร่ ทางทิศใต้ด้านหน้าของที่ติดถนนซอยทางเข้าอบต.บึงบา ซึ่งเป็นถนนคอนกรีต เพื่อให้มีถนนเข้าธรรมสถานสะดวกขึ้น การก่อสร้างอาคาร ๒ หลังแรกใช้งบประมาณ ๑.๕ ล้านบาท โดยมีคุณสุทัศน์ จารุธนาศักดิ์ คุณนิธิกานต์ บริพัชร์ธนโชติ ร่วมกับศิษยานุศิษย์และผู้มีจิตศัทธาให้การสนับสนุน งานก่อสร้างเริ่มเดือนมีนาคมแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ได้มีพิธีทำบุญรับมอบที่ดินและเสนาสนะในวันอาสาฬหบูชาซึ่งตรงกับวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๐

สถานธรรมแห่งนี้ชื่อว่า ร่มอารามธรรมสถาน เป็นสาขาของวัดตาดน้ำพุ ซึ่งมีพระครูปิยสีลาจารย์ (พระอาจารย์ไชยา อภิชโย) เจ้าคณะอำเภอบ้านผือ (ธ.) เป็นเจ้าอาวาสวัดตาดน้ำพุ(ในขณะนั้น) โดยที่หลวงพ่อชาญชัย อธิปญฺโญ มีวัตถุประสงค์ที่จะให้ร่มอารามธรรมสถาน เป็นสถานที่อบรมปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จึงได้เปิดอบรมวิปัสสนากรรมฐานขึ้นครั้งแรก ระหว่างวันที่ ๑๖-๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ โดยมีหลวงพ่อชาญชัย อธิปญฺโญ และพระอาจารย์กิตติ สุธีโร จากวัดป่าบ้านจิก อ.เมือง จ.อุดรธานี เป็นพระวิทยากร เนื่องจากสถานที่อบรมคือกุฏิธรรมารามมีเนื้อที่จำกัด จึงรับผู้เข้าอบรมเพียง ๑๒ คน เป็นชาย ๓ คน หญิง ๙ คน ผู้เข้าอบรมนอนเต้นท์ ใต้ต้นไม้ซึ่งให้ร่มได้พอควร แต่ให้บรรยากาศของความสงบและความเป็นธรรมชาติ 

เมื่อสิ้นสุดการอบรม ผู้เข้าอบรมคือคุณสุเทพ และคุณพันทิพย์ ฉันทะกุล คู่สามีภรรยา มีจิตศรัทธาสร้าง ศาลาทิพยเทพ ขนาด ๘.๐๐ X ๑๒.๐๐ เมตร ถวาย ซึ่งใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรม ตั้งแต่เดือน มกราคม ๒๕๕๑ เป็นต้นมา ศาลาทิพยเทพ มีขนาดจำกัด รับผู้เข้าอบรมได้ครั้งละประมาณ ๓๐ คน หลักสูตรการอบรมระยะเวลา ๙ วัน จัดขึ้นเดือนละครั้งบางเดือนมีหลักสูตรระยะเวลา ๓ วัน เข้าแทรก มีผู้สนใจเข้ารับการอบรมมากขึ้นตามลำดับ ได้มีการสร้างเสนาสนะเพิ่มขึ้นได้แก่โรงอาหาร เรือนนอน ซึ่งระยะแรกสร้างเป็นอาคารโล่งหลังคามุงหญ้าแฝก ให้ความร่มเย็นเป็นธรรมชาติ และเหมาะกับฐานะของร่มอารามซึ่งอยู่ในช่วงแรกของการบุกเบิก ต่อมาพระอาจารย์บรรจง จินตามโย จากวัดป่าบ้านค้อ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี มาร่วมสมทบเป็นพระวิทยากรด้วย

ผลการจัดอบรมปฏิบัติธรรมที่ผ่านมา เป็นประโยชน์แก่ผู้เข้ารับการอบรม จึงมีผู้สมัครเข้าอบรมซ้ำอีก หลายคนชักนำบุคคลที่ตนรักและใกล้ชิดเข้าปฏิบัติ เป็นเหตุให้การเปิดรับสมัครแต่ละรุ่น มีผู้สมัครเต็มในเวลาไม่นาน ต้องจองกันล่วงหน้าหลายเดือน ด้วยเหตุนี้หลวงพ่อชาญชัย อธิปญฺโญ พระอาจารย์กิตติ สุธีโร และพระอาจารย์บรรจง จินตามโย ร่วมกับคณะญาติโยมที่ช่วยงาน จึงเห็นสมควรที่จะสร้างศาลาปฏิบัติธรรมวิสุทธิมรรคขึ้น เป็นอาคารคอนกรีต ๒ ชั้น ขนาด ๑๖ X ๒๘ เมตร ชั้นบนเป็นที่อบรมปฏิบัติธรรม ชั้นล่างเป็นที่พักของผู้เข้าปฏิบัติธรรมหญิง ได้มีการบอกบุญหาทุนทรัพย์สร้างอาคาร ในการนี้ผู้มีจิตศรัทธาได้จัดผ้าป่ามาทอดเมื่อวันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๑

ได้มีพิธียกเสาเอกเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๑ งานก่อสร้างเริ่มลงมือเมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๒ ระหว่างการก่อสร้าง คุณเมตตา อุทกะพันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง นำคณะนิตยสาร Secret มาทอดผ้าป่าเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๒ ต่อมาวันวิสาขบูชา ซึ่งตรงกับวันที่ ๘ พฤษภาคม คณะศิษย์และผู้มีกุศลจิต ได้ร่วมกันทอดผ้าป่าหาทุนทรัพย์อีกครั้ง เป็นผลให้การก่อสร้างศาลาวิสุทธิมรรค และโรงอาหาร ขนาด ๘ X ๒๐ เมตร ซึ่งสร้างควบคู่กันไปด้วย ดำเนินไปด้วยดี แล้วเสร็จและทำบุญฉลองเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๒

ศาลาวิสุทธิมรรค เกิดจากกุศลจิตของสาธุชนทั้งหลาย ที่อาสาเข้ามาช่วยกันโดยมิเห็นแก่ความเหนื่อยยาก เช่น คุณเลอศักดิ์ นิยมไทย เป็นสถาปนิก น.ต. ปานดาบ เมฆสวัสดิ์ (รน.) เป็นวิศวกรโครงสร้าง

น.อ. สากล มีแก้ว เป็นวิศวกรไฟฟ้า คุณสุเทพ และคุณพันทิพย์ ฉันทกุล เป็นที่ปรึกษาการก่อสร้าง นอกจากนี้ยังมีผู้บริจาคทรัพย์สิ่งของอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก เป็นผลให้การก่อสร้างสำเร็จลุล่วงเร็วกว่าที่คาดหมาย

ศาลาวิสุทธิมรรค รองรับผู้เข้าปฏิบัติธรรมได้ ๑๐๐ คน มีสิ่งอำนวยความสะดวกตลอดจนให้บรรยากาศที่เกื้อกูลต่อการปฏิบัติธรรม เช่น การแสดงธรรมใช้ภาพและตัวหนังสือประกอบการ (โดยใช้โปรแกรม power point และ projector) ช่วยให้เข้าใจได้ง่าย ห้องปฏิบัติธรรมมีเครื่องปรับอากาศ มีเตียงนอนเฉพาะคน สถานที่มีความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย

ปัจจุบันร่มอารามธรรมสถาน ได้รับการพัฒนาให้มีความพร้อมต่อการรองรับผู้เข้าอบรมปฏิบัติธรรมยิ่งขึ้น เช่น ขยายพื้นที่เป็น ๑๕ ไร่ โดยซื้อที่ด้านตะวันออก  ๒ งาน เป็นที่จอดรถมีหลังคาสำหรับผู้เข้าอบรม ซื้อที่ด้านทิศเหนือเพิ่ม ๓ ไร่ ในปีพศ.๒๕๕๔ โดยคุณไชยณรงค์-คุณพรพิพย์ ถนัดใช้ปืน ร่วมบริจาคค่าที่ ๑ ไร่ และคุณสุดใจ จริยาภากร บริจาคค่าที่ ๑ไร่ ปัจจุบันสร้างเป็นเรือนนอนผู้เข้าอบรมชาย
ต่อมาปีพศ. ๒๕๕๘ คุณดวงรัตน์ เล้าประเสริฐ-คณเยาวลักษณ์ วิริยะยุทธการ ถวายที่ดินด้านทิศใต้ ติดถนนหลักทางเข้าออบต.บึงบา เนื้อที่ ๖ไร่ ปัจจุบันสร้างเรื่อนนอนผู้ปฏิบัติธรรมหญิง และเป็นลานธรรมสำหรับการเดินจงกรมยามเช้า มีพระพุทธรูปสีทององค์ใหญ่เด่นเป็นสง่า รายรอบด้วยสวนหย่อม คูน้ำ สระบัว  ช่วยให้ทัศนียภาพรื่นรมย์ ดูสงบเจริญตาเจริญใจเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม

ที่สำคัญคือธรรมะที่แสดงเข้าใจได้ง่าย เริ่มจากพื้นฐานขึ้นไป สามารถนำธรรมไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการปฏิบัติสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐานได้อย่างชัดเจน

ร่มอารามธรรมสถานเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งสำหรับผู้สนใจปฏิบัติธรรม ที่แสวงหาสำนักและวิธีการปฏิบัติธรรมให้เหมาะกับจริตของตน.